วันวิสาขบูชา (Vesak Day หรือ Visakha Bucha Day) คือ วันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นวันหยุดราชการของไทย
วันวิสาขบูชา คือ วันที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันและเดือนเดียวกัน โดยวันวิสาขบูชามีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Vesak Day (หรือ Visakha Bucha Day ตามคำอ่านแบบไทย)
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 "วิสาขบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
เมื่อปี พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชา หรือ Vasek Day นี้เป็นวันสำคัญของโลก เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและศาสนาพุทธที่มีต่อมนุษย์ โดยคำสอนเหล่านี้เน้นไปที่เมตตาธรรมและขันติธรรม เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขในโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างพากันรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ที่พระองค์ได้เคยสอนไว้ กิจกรรมที่ชาวพุทธมักจะปฏิบัติกันในวันวิสาขบูชา ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล และเข้าวัดเวียนเทียนรอบอุโบสถ
วันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทั้งนี้ คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมี" ซึ่งมีความหมายว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งนี้ เดือนวิสาขะ คือ ชื่อเดือนที่ 6 แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม แต่หากปีใดมีอธิกมาสหรือมีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
สำหรับในปี พ.ศ. 2566 วันวิสาขบูชาตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ทำให้วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2566 เป็นวันหยุดชดเชยวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และ เสด็จดับขันธปรินิพพาน
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ภาษาทางราชการเรียกว่า "รุมมินเด" ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกประเภทมรดกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2540
เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันเรียกสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ว่า "พุทธคยา" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2545
พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในเวลาใกล้รุ่งของคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพระพุทธศักราช 1 ปี ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในแคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
หลังจากปรินิพพาน 7 วัน มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เรียกวันนี้ว่า "วันอัฐมีบูชา"
ข้อมูลน่ารู้:
“ลุมพินีวัน” (สถานที่ประสูติ) และ “พุทธคยา” (สถานที่ตรัสรู้) ซึ่งเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
อริยสัจ 4 คือ หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อันเป็นแนวทางการดับทุกข์ โดย "อริยสัจ 4" หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงเป็นอริยะ และเป็นความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร 4 ประการ ได้แก่
ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ สภาพที่ทนได้ยาก
สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ คือ การดับทุกข์
มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ
ความกตัญญู คือ การรู้ถึงอุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้หรือทำไว้ก่อนหน้า เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึง การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้
ความไม่ประมาท คือ การมีสติเสมอไม่ว่าจะกระทำการใด ๆ เช่น การคิด พูดจา และการแสดงออกหรืออิริยาบถทั้ง 4 ได้แก่ เดิน ยืน นั่ง และนอน การมีสติช่วยให้เรารับรู้ถึงความเป็นอยู่ในปัจจุบัน รู้ทันสิ่งต่าง ๆ การฝึกฝนให้ตัวเองมีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราสามารถฝึกสมาธิและสติได้ โดยการระลึกรู้ทันเมื่ออยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดและคิดสิ่งใด ๆ
ปัจจุบันหลายประเทศกำหนดให้เป็นวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งเป็นวันหยุดราชการ เช่น ไทย อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ พม่า (เมียนมา) บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
กิจกรรมวันวิสาขบูชาที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติเพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ที่มีต่อชีวิตของเราและสังคมโดยรวม ตัวอย่างกิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่
ทำบุญตักบาตร
ฟังเทศน์ฟังธรรม
รักษาศีล
เข้าวัดเวียนเทียนรอบอุโบสถ โดยเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่ 2 จะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่ 3 สวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อเวียนเทียนครบสามรอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชา