ประวัติโรงเรียนปัญจทรัพย์

               โรงเรียนปัญจทรัพย์เป็นโรงเรียนคาทอลิกในสังกัดสังฆมณฑลจันทบุรีอันเป็นเขตมิสซังทางภาคตะวันออกของประเทศ  ที่ได้แยกการบริหารปกครองจากสังกัดสังฆมณฑลกรุงเทพ  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ.1944)  ดำเนินการบริหารโรงเรียนโดยซิสเตอร์คณะธิดากางเขน   ณ  จันทบุรีมีจุดเริ่มต้นสืบทอดมาจากโรงเรียนเล็ก ๆ  ที่มีอยู่ก่อนแล้วคือโรงเรียน  “อนุบาลละมุนอนุกูล”อันเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนแม่ของโรงเรียนปัญจทรัพย์         ในปัจจุบัน


            หากปัจจุบันเป็นผลอันสืบเนื่องมาแต่อดีต  โรงเรียนปัญจทรัพย์ที่ได้ก่อกำเนิดและเติบโตมาจนมีอายุ ครบรอบ  53  ปี  ก็คือผลของการลงทุนลงแรง  ด้วยความมุ่งมั่นในเจตนารมณ์และด้วยการอุทิศเสียสละของผู้ริเริ่มและผู้มีส่วนในการพัมนา  จนกระทั่งมาเป็นโรงเรียนปัญจทรัพย์ในทุกวันนี้  เหตุการณ์อันเป็นประวัติความเป็นมาในอดีตจนปัจจุบัน  จึงควรแก่การสนใจรำลึกถึงเป็น “อนุสรณ์” สืบไป

 

1. โรงเรียนอนุบาลละมุนอนุกูล

               พระสังฆราชสงวน  สุวรรณศรี  เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขสังฆมณฑลจันทบุรี (พ.ศ.2496)  แล้วเห็นว่าบรรดาพระสงฆ์  นักบวช ที่เข้ามาจากต่างจังหวัด  เพื่อทำธุระในกรุงเทพฯ มีความลำบากในการหาที่พัก  จึงพยายามจัดหาที่ดินเพื่อสร้างที่พักขึ้น  ที่สุดได้พบผู้ใจบุญคนหนึ่งชื่อ  ละมุน  สุดใจเป็นชาวแปดริ้ว  ยินดีถวายที่ดินจำนวน 1 ไร่เศษในซอยหลังโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีให้แก่สังฆมณฑลจันทบุรี  ท่านสงวนได้ขอให้คุณโชคชัยปัญจทรัพย์  ช่วยในการติดต่อ  โอนมอบที่ดินจนสำเร็จ (ประมาณปี พ.ศ.2504)  หลังจากต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย  เมื่อมีที่ดินแล้วยังต้องจัดการให้ผู้เช่าเดิมออกไปและถมดิน  ปรับแต่งพื้นที่ด้วย

                         ต่อจากนั้น  พระสังฆราชสงวน  มีดำริให้เปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นด้วย  จึงได้มอบหมายให้บาทหลวงบุญชู  ระงับพิษ เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น  ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง  เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นที่พักอาศัย  ในการตระเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนท่านได้ติดต่อให้ซิสเตอร์คณะธิดากางเขน  ณ จันทบุรี  มาช่วยดำเนินการทางคณะได้ส่งซิสเตอร์พเยาว์  ถาวรวงษ์ และซิสเตอร์อีก 2 ท่าน  เข้ามาอยู่ประจำเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2504ต่อมาพระสังฆราชได้แต่งตั้ง บาทหลวงเศียร  โชติพงษ์  ให้มาดูแลประจำเมื่อวันที่  17  มกราคม  2505  ในระยะเริ่มต้นนี้  คณะผู้บุกเบิกได้รับความลำบากอย่างมากจากการขาดทุนทรัพย์ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด  ต้องพยายามจัดหาวัสดุ อุปกรณ์สำหรับโรงเรียนใหม่ เท่าที่จะทำได้   ทั้งยังต้องลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเอง  อย่างไรก็ตามในช่วงเตรียมงานเปิดโรงเรียนและขออนุญาตจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับความช่วยเหลือแนะนำจากแมร์บุญประจักษ์  ทรรทรานนท์  และแมร์ดอมินิกจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยโดยตลอดและเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ถวายที่ดินจึงตั้งชื่อโรงเรียนนี้ว่า “อนุบาลละมุนอนุกูล”

         วันที่  17  พฤษภาคม  2505  โรงเรียนเบิกโรงด้วยนักเรียน 9 คน  ซึ่งเป็นบุตรครูอาจารย์  วิทยาลัยครู  และนักธุรกิจในละแวกนั้น   โดยมีบาทหลวงเศียร  โชติพงษ์  เป็นเจ้าของและซิสเตอร์พเยาว์  ถาวรวงษ์เป็นผู้จัดการและครูใหญ่คนแรก  มีครูน้อย 1 ท่านและดูแลโภชนาการ 2 ท่าน

           ต่อมาซิสเตอร์พเยาว์ ถาวรวงษ์  ได้ย้ายไปรับหน้าที่อื่นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2506  ซิสเตอร์น้อมจิตต์  อารีพรรคมารับหน้าที่เป็นผู้จัดการและครูใหญ่คนที่ 2                     ชื่อเสียงของโรงเรียนค่อย ๆ เป็นที่รู้จักและยอมรับจากบรรดาผู้ปกครองยิ่งขึ้น              เป็นลำดับในด้านการสอนและการอบรม  แม้ว่ามีหลายท่านบ่นว่าเก็บค่าเล่าเรียนแพง     แต่จำนวนนักเรียนก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   

                                    วันที่ 3  พฤษภาคม  2510   ซิสเตอร์จำรัส  อานามนารถ   ย้ายมารับหน้าที่ผู้จัดการและครูใหญ่คนที่ 3 ในปีนี้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 52 คนระหว่างนั้น   คุณโชคชัยปัญจทรัพย์   ได้แวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ  เห็นว่านักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และบริเวณโรงเรียนก็คับแคบ  คงไม่เพียงพอที่จะรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต   ประกอบกับในระยะนั้นเอง  คุณโชคชัยกำลังพัฒนาที่ดินจัดสรรในซอยโชคชัยร่วมมิตร  ถนนวิภาวดีรังสิต  จึงได้มอบที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่สังฆมณฑลจันทบุรี  เพื่อย้ายโรงเรียน    ไปอยู่ในที่แห่งใหม่ที่กว้างขวางขึ้นคือที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบันนี้นั้นเอง

2.ย้ายโรงเรียนจากถนนเพชรบุรีไปซอยโชคชัยร่วมมิตร

              สถานที่ใหม่ที่คุณโชคชัยถวายให้นั้นมีเนื้อที่ 4 ไร่อยู่สุดซอยแยกจากถนนใหญ่เมื่อ 25 ปีก่อน  ยังเป็นท้องนาและทุ่งร้าง  บริเวณปากซอยและปลายซอยมีบ้านอยู่เพียง 

2-3 หลัง  ตลอดซอยยังไม่มีบ้านเรือน  ถนนรัชดาภิเษกเป็นเพียงแนวพูนดินของกรมรถไฟเท่านั้น  แต่มีแนวโน้มว่าบริเวณนี้จะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน  เพราะอยู่ในทำเลที่ดี  

              หลังจากมีที่ดินแห่งใหม่แล้วบาทหลวงเศียร   โชติพงษ์  ก็เริ่มจัดการถมและปรับพื้นที่ทันทีราวเดือนเมษายน 2511 เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกเป็นตึกคอนกรีต 

4 ชั้น  คือ “อาคารเซนต์โยเซฟ”ในปัจจุบัน โดยสร้างเพียงส่วนเดียวก่อนจำนวน 12 ห้องเรียนเพื่อให้เสร็จทันเปิดปีการศึกษาต่อไป  และได้สร้างอาคารเปิดปีการศึกษาต่อไป  และได้สร้างอาคารบ้านพักเป็นตึก 3ชั้น  อีกหนึ่งหลัง  ซึ่งยังคงใช้การอยู่ในปัจจุบัน   นอกจากนั้นยังได้รื้ออาคารไม้ของโรงเรียนอนุบาลละมุนอนุกูลมาสร้างเป็นโรงครัว โรงรถ และบ้านพักพนักงานด้วย การโยกย้ายไปในที่ใหม่ดำเนินไปตลอดเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2511ในระยะแรกนี้ การอยู่อาศัยและการดำเนินการต่างๆยังขลุกขลักอยู่มาก  เพราะอาคารสถานที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี  จึงต้องอาศัยอาคารเรียนเป็นทั้งห้องเรียน ที่พักและวัดไปพลางก่อนด้วย


3.โรงเรียนปัญจทรัพย์

                    ตอนย้ายโรงเรียนไปอยู่ในที่ใหม่  ยังมีความยุ่งยากอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องชื่อของโรงเรียน แต่แรกผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้มีความตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อใหม่  และขออนุญาตเจ้าหน้าที่  ย้ายที่ตั้งโรงเรียนเท่านั้น  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ครู เลย  และแม้กระทั่งนักเรียนก็ย้ายไปด้วย   แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมอนุญาต  และแจ้งว่า “ตั้งโรงเรียนใหม่ก็ต้องตั้งชื่อใหม่”  ดังนั้นชื่อโรงเรียน  “ปัญจทรัพย์”จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่

คุณโชคชัย    ปัญจทรัพย์และครอบครัว  ซึ่งเป็นผู้อุทิศที่ดินให้แก่โรงเรียน  ในทำนองเดียวกับชื่อโรงเรียนเดิมดังนั้นวงจรชีวิตของโรงเรียนอนุบาลละมุนอนุกูลจึงจบสิ้นลง  หลังจากดำเนินการมาเพียง  6ปี  พร้อมกับการก่อกำเนิดของโรงเรียนปัญจทรัพย์ซึ่งได้รับสืบทอดชีวิตนั้นต่อมา

                  “โรงเรียนปัญจทรัพย์”ได้เปิดต้อนรับปีการศึกษาแรกในเดือนพฤษภาคม2511  มีนักเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมรวม 59 คน ครู  4  คน  ส่วนใบอนุญาตตกมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2511  มีบาทหลวงเศียรโชติพงษ์ เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับไปอนุญาต  

ซิสเตอร์จำรัส อานามนารถ  เป็นผู้จัดการและครูใหญ่คนแรก  อาศัยความพยายามและความเสียสละของคณะซิสเตอร์และคณะครู  โรงเรียนเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ปกครองจึงมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อ ๆ มา

 

                                วันที่ 9  กุมภาพันธ์ 2515บาทหลวงเศียร  โชติพงษ์  ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดคาทอลิกวัดหัวไผ่  อ.พานทอง จ.ชลบุรี บาทหลวงสุเทพ นามวงศ์  มารับหน้าที่แทนและ

ซิสเตอร์ปราณีต  นามประดิษฐ์   มารับหน้าที่เป็นผู้จัดการและครูใหญ่แทนซิสเตอร์จำรัส

อานามนารถ  วันที่ 17 พฤษภาคม 2515 ในปีการศึกษานี้จำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นเป็น 211 คนและครู 10 คน  ทำให้โรงเรียนเริ่มไม่เพียงพอรองรับนักเรียน  จึงต้องตระเตรียมขยับขยายอาคารกันอีก  โดยสร้างต่ออาคารเซนต์โยเซฟออกไปอีกทางทิศตะวันออกให้ครบตามโครงสร้างที่มีอยู่เดิม  บาทหลวงสุเทพ  นามวงศ์  ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2516 และแล้วเสร็จราวเดือนตุลาคมปีเดียวกัน   ได้ห้องเรียนเพิ่มขึ้นอีก 9 ห้องเรียน ทำให้รับนักเรียนเพิ่มขึ้นได้อีก   และยังได้ที่พักสำหรับซิสเตอร์ในชั้นที่ 5 ด้วย

              ปีการศึกษา 2517  บาทหลวงสุเทพ นามวงศ์ ย้ายไปทำหน้าที่อื่นและบาทหลวงเทพศิริ ศิริโรจน์มารับผิดชอบแทน  ซิสเตอร์บุญชอบ   หัวใจ   มารับหน้าที่ผู้จัดการและครูใหญ่  ต่อจากซิสเตอร์ปราณีต   นามประดิษฐ์  ขณะนี้มีนักเรียน 360 คน

ครู 16 คน

               วันที่ 10 กรกฎาคม 2518บาทหลวงเศียร โชติพงษ์ย้ายมารับหน้าที่ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตอีกครั้ง 

               วันที่ 19 สิงหาคม 2519   คุณพ่อสุเทพ  นามวงศ์   ย้ายกลับมาทำหน้าที่เป็นครั้งที่ 2 แทนบาทหลวงเศียรโชติพงษ์ ในระยะนี้โรงเรียนก็ได้พัฒนาไปมาก ได้รับการยอมรับในด้านการศึกษา อบรมนักเรียนมากยิ่งขึ้น จนเมื่อครบรอบปีที่ 10 ของโรงเรียน  

 

                 ในปี 2521 นั้นมีนักเรียนกว่า 700 คนจำนวนนักเรียนได้ทวีขึ้นกว่า 10 เท่าจากจุดเริ่มต้นทำให้เริ่มมีความแออัดห้องเรียนไม่เพียงพอและยังขาดห้องประกอบการเรียนอีกมาก  บาทหลวงสุเทพ  นามวงศ์   จึงได้คิดถึงอาคารเรียนหลังที่สอง

                 ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2522    บาทหลวงสุเทพ   นามวงศ์  ได้ยื่นขออนุมัติแบบแปลนก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นตึก 4 ชั้น อยู่ระหว่างอาคารเรียนเดิมและบ้านพักขนานกับแนวที่ดินทางทิศตะวันตก  เริ่มตอกเสาเข็มในเดือนเมษายน 2522ขณะเดียวกันก็ต้องวิ่งเต้นรวบรวมเงินทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้าง เพราะเวลานั้นโรงเรียนมีฐานะทางการเงินไม่ค่อยดีนักจึงขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญและที่เหลือก็ต้องขอยืมจากทางมิสซังก่อน

                 เริ่มปีการศึกษา 2522  ได้มีการเปลี่ยนผู้จัดการและครูใหญ่จากซิสเตอร์

บุญชอบ  หัวใจ  เป็นซิสเตอร์ราตรี   สมุทรคีรี  ส่วนการก่อสร้างอาคารเรียนคงดำเนินการต่อไปในปี 2523 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2524อาคารเรียนอันสง่างามหลังที่สองเป็นตึก 4 ชั้น  จำนวน 21 ห้อง ก็เสร็จสมบูรณ์   และได้ตั้งชื่อว่า “อาคารเซนต์ปีเตอร์”เปิดใช้ในปีการศึกษา 2524 สามารถรับนักเรียนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 1,095คน  ทั้งยังมีห้องสำหรับกิจกรรมต่างๆและหอพักนักเรียนประจำเพิ่มขึ้นด้วย  ต่อมาปีการศึกษา 2525 ได้รับอนุญาตให้ตั้งกองลูกเสือละเนตรนารีขึ้น

            วันที่ 2 มิถุนายน   2526    ซิสเตอร์มลิวัลย์  กู้ชาติ   ได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการและครูใหญ่แทนซิสเตอร์ราตรี  สมุทรคีรี   ปีการศึกษานี้มีนักเรียน 1,349 คน  ครู 32 คน ในปีต่อมาจำนวนนักเรียนก็ยังคงเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็วโรงเรียนยิ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางออกไปอีกในด้านการเอาใจใส่ในการศึกษา  อบรม  ทั้งด้านคุณธรรมและความรู้   ตลอดจนความสามารถในกิจกรรมด้านต่างๆของนักเรียน  เนื่องจากมีการอบรมพัฒนาการเรียนการสอนของคณะครูอยู่เสมอและได้จัดส่งนักเรียนออกไปร่วมประกวดแข่งขันภายนอกบ่อยๆ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนเป็นอย่างดี

                  ปีการศึกษา 2528  ได้มีการปรับปรุงสนามบริเวณโรงเรียนทำถนนอิฐบล็อกเพื่อความเรียบร้อยสวยงามและเพื่อรองรับการจราจรภายในโรงเรียนที่นับวันจะยิ่งหนาแน่นขึ้นพร้อมกันนั้นได้มีการปรับปรุงสนามเด็กเล่นด้วยส่วนทางด้านการเงินนั้นคุณพ่อสุเทพก็สามารถผ่อนชำระหนี้สินในการก่อสร้างอาคารเซนต์ปีเตอร์จนเสร็จสิ้นแต่ยังไม่ทันไร  อาคารเรียนที่มีอยู่ก็เริ่มคับแคบและไม่เพียงพอที่จะรองรับนักเรียนจึงต้องคิดถึงโครงการสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีกและได้ลงมือดำเนินงานในปี 2530 พร้อมทั้งความพยายามจัดซื้อที่ดินรอบบริเวณโรงเรียนเพิ่มขึ้นด้วย  เป็นที่น่าเสียดายที่ความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ  โดยเฉพาะพื้นที่ของโรงเรียนมีความจำกัดและยังไม่อาจขยายออกไปได้

         วันที่ 5 พฤษภาคม 2531    ซิสเตอร์ศุภางค์  กูลมงคลรัตน์  มาทำหน้าที่ผู้จัดการและครูใหญ่แทนซิสเตอร์ มลิวัลย์  กู้ชาติ   ในปีการศึกษานี้  จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 1,801 คน  ครู 58 คน  มีการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงห้องพักนักเรียนประจำในอาคารเซนต์ปีเตอร์ใช้เป็นห้องเรียนแทนได้ห้องเรียนเพิ่มขึ้นอีก 9 ห้อง  ในด้านการเรียนการสอนมีการส่งเสริมและพัฒนาการทำงานและการสอนของครูให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีกโดยเฉพาะด้านวิชาการ

                   ปีการศึกษา 2532  โรงเรียนจัดซื้อที่ดินติดต่อด้านตะวันตกได้อีก 1 แปลงเนื้อที่เพียง 162 ตารางวา  ใช้เป็นบ้านพักของซิสเตอร์  

             ปีการศึกษา 2533 ซิสเตอร์บุญชอบ หัวใจ  ได้ย้ายมารับหน้าที่ผู้จัดการและครูใหญ่อีกครั้งหนึ่งและในเดือนกันยายน 2533คุณพ่อปรีชา  สกุลอ่อน มารับหน้าที่ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตแทนคุณพ่อสุเทพนามวงศ์ซึ่งเกษียณอายุทำงานหลังจากรับภาระหนักมายาวนาน  

                                                                  ปีการศึกษา 2534 ได้มีการปรับปรุงโรงครัว  ที่ขายอาหารและโรงอาหารของนักเรียนนอกนั้นได้ซ่อมแซมและทาสีอาคารเรียนทั้ง 2 อาคารเสียใหม่

 

                 ปีการศึกษา 2535 ได้มีการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ และห้องประกอบการต่างๆ นำเอาอุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ในงานธุรการและห้องประกอบการเรียน เช่น  คอมพิวเตอร์  ฯลฯ โดยมุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม วินัย และมีความรอบรู้ในวิทยาการใหม่ๆ ยิ่งขึ้นเพื่อสามารถทันต่อความเจริญและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบัน ในปีนี้โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นประจำปีจากกระทรวงศึกษาธิการ

         ปีการศึกษา 2536  อันเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของโรงเรียนมีนักเรียน 1,915 คน ครู 72 คน  ตลอดระยะเวลา 25 ปี  ที่ผ่านมาโรงเรียนปัญจทรัพย์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ  จากจุดเริ่มต้นอันต่ำต้อยจนมาเป็นโรงเรียนที่เติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงแห่งหนึ่งในวงการศึกษา  ดุจคนเข้าสู่วัยฉกรรจ์  อาศัยความมุมานะพยายามและเสียสละของหลายหลายท่าน  ที่เป็นผู้อุปการะคุณ  ผู้บริหาร   คณะครู   ตลอดจนบรรดาศิษย์ที่เคยได้ผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตของโรงเรียนนี้ ซึ่งต่างก็มีส่วนในการสรรสร้างไม่มากก็น้อย 25 ปี  แห่งหยาดเหงื่อ  แรงใจ  ที่บรรดาครูอาจารย์ในอดีต  ได้ทุ่มเทเพื่อสั่งสอนอบรมศิษย์ ให้เป็นคนดีมีคุณธรรมและมีวิชาความรู้ล้ำเลิศ  จนกระทั่งได้เจริญก้าวหน้าในชีวิตการงานเป็นจำนวนมากมาย  คงเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่อาจบรรยายได้  และน่าที่จะทำให้เราชาวปัญจทรัพย์ทุกคน  ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้สำนึกในเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาโรงเรียนปัญจทรัพย์อันเป็นที่รักของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

         ปี พ.ศ. 2537  บาทหลวงปรีชา สกุลอ่อน ได้เริ่มโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มห้องเรียนห้องปฏิบัติการต่างๆ ให้เหมาะสม ทันสมัย เพียงพอต่อความต้องการ โดยย้ายบ้านพักพระสงฆ์ไปสร้างใหม่  เพื่อใช้ที่สร้างอาคารเรียนเพิ่ม 1 หลัง  รวมทั้งเริ่มโครงการขยายชั้นเรียน จนถึงระดับมัธยมศึกษา

                  ปี พ.ศ. 2538 บาทหลวงสันติ  สุขสวัสดิ์  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับใบอนุญาต  สานต่อโครงการก่อสร้างอาคารเรียน  ดูแลควบคุมการก่อสร้างทุกคนได้เห็นขั้นตอนการดำเนินงาน การรื้อถอนบ้านพักการก่อสร้าง  การวางรากฐานที่มั่นคงอย่างช้าๆ ค่อยๆเป็นตึกสูงขึ้นๆ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แต่ทุกคนก็ให้กำลังใจ  ร่วมมือการจัดหาทุน  และได้รับน้ำใจดีจากทุกๆท่าน ในการสนับสนุนเพื่อให้ได้เห็นอาคารที่สมบูรณ์แบบ

                 ปี พ.ศ. 2539  โครงการก่อสร้างอาคาร ก็ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน         มีการจัดส่วนต่างๆของอาคารเป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ เช่น ห้องสมุด ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม และซิสเตอร์จำรัส  อานามนารถ  ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการและครูใหญ่  ร่วมบริหารโรงเรียนและช่วยพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้า  เพื่อให้เป็นสถาบันที่สร้างเยาวชนที่ดีต่อไป  และในปีนี้  บาทหลวงชาติชาย  พงษ์ศิริ   ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รับใบอนุญาตบริหารโรงเรียนและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวมทั้งช่วยสานต่อโครงการก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์  จัดห้องแนะแนว  ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนขึ้นอีกด้วย

           ปี พ.ศ. 2540  โรงเรียนปัญจทรัพย์มี บาทหลวงชาติชาย  พงษ์ศิริ  เป็นผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ  มีซิสเตอร์ศุภางค์  กูลมงคลรัตน์   เป็นครูใหญ่  ร่วมบริหารและพัฒนาโรงเรียน  และมี “อาคารเซนต์แมรี่” เป็นอาคารเรียนที่ทันสมัยเพิ่มอีก 1 หลัง  เปิดทำการสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรก  จำนวน 2 ห้องเรียน  และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงระเบียบการรับสมัครนักเรียนเข้าใหม่มีห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียนทุกระดับชั้น มีห้องสมุด ที่เป็นแหล่งความรู้ ทุกๆ เช้า และทุกเที่ยงนักเรียนมักจะไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นนักเรียนประถมเล็กๆ หรือแม้แต่มัธยมก็ตาม มีเครื่องปรับอากาศและบรรยากาศที่เงียบสงบ นักเรียนอยู่ในระเบียบทำให้    มีสมาธิ  สามารถอ่านหนังสือเสริมความรู้ได้เป็นอย่างดี  มีห้องเรียนคอมพิวเตอร์              ซึ่งมีคอมพิวเตอร์จำนวน 56 เครื่อง  เป็นระบบ LAN และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้นักเรียนใช้อุปกรณ์ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ มีห้องวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนได้มีการทดลองจากอุปกรณ์จริงขณะเรียน  และสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากภาพจำลองและสิ่งต่างๆในห้องนี้  มีห้องแนะแนวซึ่งมีครูสามารถให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่ต้องการคำปรึกษาได้ในด้านการเรียนและด้านอื่นๆ มีห้องประชุมอยู่ชั้นสูงสุด ใช้ประชุมบุคลากรครูและนักเรียนในโอกาสต่างๆ แม้แต่ใต้อาคารเรียนชั้นล่างสุดก็ยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของนักเรียนได้ดีเช่น  ใช้เป็นสถานที่เรียนวิชาพละศึกษาของน้องๆ อนุบาลหรือฝึกกิจกรรมลูกเสือ - เนตรนารี ของนักเรียนระดับประถม - มัธยม  รวมทั้งใช้ในกิจการอื่นๆของนักเรียนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

          ปีการศึกษา 2543 เปลี่ยนแปลงผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตจาก บาทหลวงชาติชาย  พงษ์ศิริ เป็นบาทหลวงวิศิษฎ์  วิเศษเธียรกุล

        ปีการศึกษา 2544 บาทหลวงวิศิษฎ์  วิเศษเธียรกุล ได้ดำเนินการให้สร้างสระว่ายน้ำ ฟิตเนส ซาว์น่า  สร้างอาคาร Jubilee  ติดตั้งเครื่องรับโทรทัศน์ พร้อมเครื่องฉายข้ามศีรษะตามห้องเรียนและห้องประกอบการต่าง ๆ 

            ปีการศึกษา 2545 จัดตั้งห้องศูนย์ปฏิบัติการคณิตศาสตร์อาคารเซนต์ปีเตอร์ปรับปรุงอาคารเรียนเซนต์โยเซฟ โรงอาหาร สำนักอำนวยการ และติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกห้องเรียน

         ปีการศึกษา 2546  ปรับปรุงสนามบริเวณภายในโรงเรียน  และจัดสร้างกันสาดหน้าอาคารเซนต์โยเซฟและอาคารเซนต์ปิเตอร์

         ปีการศึกษา 2547 ติดตั้งคอมพิวเตอร์ในห้องเรียน ห้องประกอบการเพื่อให้ครูใช้เป็นสื่อในการสอนและศึกษาหาข้อมูล

         ปีการศึกษา 2548 มีการขอใช้ชื่อโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ “PANCHASAP SCHOOL”และเปลี่ยนแปลงผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตจากบาทหลวงวิศิษฎ์ วิเศษเธียรกุล เป็นบาทหลวงบรรจง พานุพันธ์  มีการปรับปรุงห้องน้ำ ทาสีอาคารเรียน ปรับปรุงห้องดนตรีสากลพร้อมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องดนตรีสากล

         ปีการศึกษา 2549 เปลี่ยนผู้อำนวยการเป็น ซิสเตอร์ศรีไพร  กระทอง มีการปรับปรุงสระว่ายน้ำ   ปรับปรุงห้องฟิสเนส  ขยายห้องวัดผลประเมินผล  ปรับปรุงสระว่ายน้ำ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม  และติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ห้องคำสอน  ปรับปรุงสวนหย่อม

         ปีการศึกษา 2550  ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องพิมพ์  จำนวน 1 ชุด           และติดตั้งโทรทัศน์  จำนวน 1 เครื่องที่ห้องแนะแนว  ปรับเปลี่ยนห้องคำสอนและปรับปรุงห้องคำสอน  ซ่อมแซมชั้นวางเอกสาร  และโต๊ะในห้องบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ  ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ผู้ช่วยแต่ละฝ่าย จำนวน 6 เครื่อง ปรับปรุงสนามเด็กเล่นและจัดซื้อเครื่องเล่นใหม่จำนวน 1 ชุดใหญ่  ปรับปรุงกระบะทรายใหม่  จัดซื้อเครื่องเสียง

และติดตั้งลำโพง  จำนวน 1 ชุด  ปรับปรุงห้องสมุดและปรับเปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ใหม่  ปรับปรุงห้องวิทยาศาสตร์และจัดซื้อตู้เก็บอุปกรณ์ใหม่  ทาสีโต๊ะเรียนและเก้าอี้ ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ จัดซื้อเครื่องล้างจาน 

            ปีการศึกษา 2551  ซื้อที่ดินเพิ่มเติมเนื้อที่ 87 ตารางวา  เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา  ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จัดแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์บริเวณสวนหย่อม  ติดตั้งกล้องวงจรปิดตามอาคารต่าง ๆ  ติดตั้งราวบันไดอาคารเซนต์โยเซฟ  ปรับปรุงห้องพักครูชั้น 3 อาคารเซนต์โยเซฟเป็นห้องเรียนชั้นประถม       

         ปีการศึกษา 2552  ติดตั้งเครื่องอ่านลายนิ้วมือจำนวน 1 เครื่อง    

         ปีการศึกษา 2553  ซื้อที่ดินติดบริเวณโรงเรียนอีก  285 ตารางวา  เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา  จัดซื้อเครื่องเสียงและติดตั้งลำโพงเพิ่มเติม  ปรับปรุงและเพิ่มบ่อบำบัดน้ำเสียและกรองไขมัน ปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่ห้องพยาบาล  ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ  จัดแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเปลี่ยนผู้อำนวยการเป็น ซิสเตอร์ดวงแข  รัตโนภาส

           ปีการศึกษา 2554 เปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่ห้องพัฒนาคุณภาพ จำนวน ๖ ชุด จัดซื้อเครื่องดนตรีชุดใหญ่ ๑ ชุด ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ จัดสวนวรรณคดีไทย (สุนทรภู่)สระว่ายน้ำเต็มรูปแบบ จัดสนามฟุตบอล 54 พร้อมจ้างพยาบาลมาประจำที่โรงเรียนในช่วงเวลาทำการ

           ปีการศึกษา 2555  ทาสีอาคารเซนต์โยเซฟ ปรับภูมิทัศน์และแหล่งเรียนรู้

           ปีการศึกษา 2556 เปลี่ยนกระจกหน้าต่างทุกห้องเรียน และทาสีอาคาร

เซนต์ปีเตอร์ เตรียมห้องเรียนพิเศษสำหรับMini English Program (M.E.P.) 

ห้อง English Click & Learn (E.C.L.) ห้อง English For Funในระดับปฐมวัย  ติดตั้ง

ระบบ Smart  T.V.  ห้องประชุม  ห้องเรียนปฐมวัย  และโถงอาคารเซนต์แมรี่

             ปีการศึกษา 2557 ติดตั้งระบบ smart T.V. ทุกห้องเรียน เดินระบบสาย  lanเคเบิลใยแก้วใหม่ทั้งระบบ  ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ  ปรับสวนวรรณคดีไทย (สุนทรภู่) ปรับสวนนักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงสระว่ายน้ำเพิ่มเติม เพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ  Mini English  Program  (M.E.P.) ปฐมวัยปีที่ 2 - 3 และประถมศึกษาปีที่ 1

             ปีการศึกษา 2558 ได้แต่งตั้ง บาทหลวงอภิชิต  ชินวงค์ เป็นผู้จัดการ และเปลี่ยนผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตจากบาทหลวงบรรจง พานุพันธ์ เป็นบาทหลวง ผศ.ดร.ชาติชาย  พงษ์ศิริ เพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ Mini English Program (M.E.P.) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2   และปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียน

                         ปีการศึกษา 2559 เปลี่ยนผู้อำนวยการเป็น ซิสเตอร์วันเพ็ญ  ไชยเผือก         เพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษMini English Program (M.E.P.) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อีกทั้งผู้อำนวยการได้ส่งเสริมการสนทนาภาษาอังกฤษแก่นักเรียนทุกระดับชั้น โดยช่วงเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติจะให้นักเรียนลงมาท่องคำศัพท์บทสนทนาภาษาอังกฤษกับครูประจำชั้น

         ปีการศึกษา 2560 บาทหลวงผศ.ดร.ชาติชาย  พงษ์ศิริ มีนโยบายให้ดำเนินการสร้างอาคารเอนกประสงค์เซนต์ลอเลนซ์  เป็นหลังคาคุลมแดดบริเวณว่างข้างอาคารเซ็นต์ปีเตอร์ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และความปลอดภัยแก่นักเรียน จัดซื้อเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ปรับภูมิทัศน์โดยรอบของโรงเรียน เพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ Mini English Program (M.E.P.) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเพิ่มชั้นเรียนระดับเตรียมอนุบาล

         ปีการศึกษา 2561 บาทหลวงผศ.ดร.ชาติชาย  พงษ์ศิริ  บาทหลวงอภิชิต  ชินวงค์ ดำเนินการสร้างอาคารบูรณาการนักบุญลูกา 54 เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดการเรียนรู้ จัดทำสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสำหรับนักเรียนปฐมวัยรวมทั้งสถานที่จอดรถรับ – ส่ง นักเรียนในร่ม เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนและให้บริการแก่ชุมชน และซ่อมบำรุงหลังคา ชั้น 5 อาคารเซนต์ปีเตอร์ เปลี่ยนผู้อำนวยการเป็นซิสเตอร์ยุวดี  ล้อคำ เพิ่มห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ Mini English Program (M.E.P.) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

           ปีการศึกษา 2562  ปรับโซนห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ  Mini English  Program (M.E.P.)ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 5  อาคารเซนต์แมรี่  และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อาคารเซนต์ปีเตอร์ และได้ปรับภูมิทัศน์บริเวณหน้าเสาธง

                             ปีการศึกษา 2563 ได้แต่งตั้ง บาทหลวงอนุสรณ์  พงษ์สวัสดิ์เป็นผู้จัดการแทนบาทหลวงอภิชิต  ชินวงค์ และตำแหน่งผู้แทนผู้รับใบอนุญาตแทนบาทหลวงผศ.ดร.ชาติชาย  พงษ์ศิริ  มีจำนวนนักเรียน 1,332  คน  จำนวนครู  99 คน  โรงเรียนพยายามเร่งพัฒนานักเรียนในทุกด้าน  เพื่อให้พร้อมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและสังคมในยุค Disruption เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้  และพัฒนาทักษะความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิทยาการคำนวณ  ภาษาอังกฤษ  และภาษาจีน  กิจกรรมต่าง ๆ         ของโรงเรียนจึงเป็นกระบวนการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนทุกคนให้ได้เรียนรู้  ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติให้ได้บรรลุอย่างรวดเร็ว  การปรับภูมิทัศน์ภายในโรงเรียนได้ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำลดฝุ่น pm 2.5  ปรับภูมิทัศน์บริเวณสวนวิทยาศาสตร์  และสนามเด็กเล่น  ปรับภูมิทัศน์อาคารเซนต์โยเซฟ  ปรับปรุงห้องเรียนเตรียมอนุบาล โดยปูพื้นและเพิ่มสื่อการเรียนรู้  ปรับปรุงห้องศูนย์การเรียนรู้ปฐมวัย  ทำห้องเรียนเปียโนระดับปฐมวัย  ปรับปรุงภูมิทัศน์อาคารเซนต์แมรี่  ทำห้องปฏิบัติการการสอนวิทยาการคำนวณ

                             ปีการศึกษา 2564  ได้แต่งตั้งซิสเตอร์ลัดดา   เชยบุญ  ทำหน้าที่ตำแหน่งผู้อำนวยการ  แทนซิสเตอร์ยุวดี  ล้อคำ  มีบาทหลวงอนุสรณ์  พงษ์สวัสดิ์  ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการและผู้แทนผู้รับใบอนุญาตได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโปรแกรม IEP (Intensive English Program) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นรุ่นแรก และเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นรุ่นแรก ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 2 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปรับปรุงห้องเรียนระดับชั้นอนุบาล ห้องเรียนภาษาจีน  และปรับปรุงรางน้ำ อาคารเซนต์โยเซฟ   ปรับภูมิทัศน์วงเวียนน้ำพุกลางสนาม  และปูพื้นกระเบื้องชั้น 5 อาคารเซนต์ปีเตอร์

                                                         ปัจจุบันโรงเรียนปัญจทรัพย์มีอาคารเรียนจำนวน 3 หลัง  มีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย   มีคณะครูและบุคลากร  99 คน  มีนักเรียน 1,333 คน  แต่การพัฒนาโรงเรียนปัญจทรัพย์ยังไม่สิ้นสุด  ผู้บริหารยังคงมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน  การอบรมทั้งด้านความรู้และจริยธรรม  รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการจัดอาคารสถานที่ให้ทันสมัยอย่างเพียงพอ สิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จมิใช่แต่เพียงอาคารสถานที่ที่มีการพัฒนาเท่านั้น  แต่การที่ได้เห็นเยาวชนที่เป็นศิษย์เก่าและสิทธิ์ปัจจุบันมีความรู้มีคุณธรรมมีความสามารถที่จะดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี  สามารถที่จะพัฒนาตนให้ก้าวหน้าในชีวิตการงานสร้างสรรค์สังคมเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและ

ถือเป็นความสำเร็จที่ดีที่สุด

ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนปัญจทรัพย์ 

               ประกอบด้วย      กางเขนและหนังสือในวงกลม

                                      วงกลมซ้อนกันและขยายใหญ่ขึ้น

                                      วงจันทร์เสี้ยว   และอักษรย่อ ป.จ.ท.

                                       พร้อมกับคำขวัญ  คุณธรรม  นำปัญญา

 

ความหมายของตราโรงเรียน

          กางเขนและหนังสือในวงกลมเป็นสัญลักษณ์หมายถึง  การศึกษา เรียนรู้โดยมีคุณธรรมเป็นเครื่องชี้นำ

          วงกลมซ้อนกัน  และขยายใหญ่ขึ้น หมายถึง คุณธรรม  และความรู้ที่นักเรียนแพร่กระจายออกไปสู่สังคมยังเป็นการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง  โดยอาศัยความร่วมมือของสมาชิกในสถาบัน

           วงจันทร์เสี้ยว  และอักษรย่อ ป.จ.ท.  คือชื่อย่อของโรงเรียนปัญจทรัพย์ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลจันทบุรี

สีประจำโรงเรียนฟ้า – ขาว

             สีฟ้า   หมายถึง  นอบน้อม เคารพเชื่อฟัง ให้เกียรติ และยอมรับความเห็นในความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น

           สีขาว  หมายถึง  ความบริสุทธิ์ สดใส ความซื่อสัตย์สุจริต 

ปรัชญาของโรงเรียน

             การศึกษาคือการพัฒนาคนทั้งครบ     ให้บรรลุถึงความเป็นมนุษย์ครบครัน

             เป็นคนดี  มีความรู้  รักความจริง       สมศักดิ์ศรีการเป็นบุตรของพระเจ้า

คติพจน์ประจำโรงเรียน

คุณธรรม   นำปัญญา   พัฒนาสังคม

ดอกไม้ประจำโรงเรียน

 

ต้นเหลืองปรีดียาธร  (ตาเบเหลือง)

             เป็นไม้ยืนต้นที่มีรากฐานลำต้นมั่นคง แข็งแรง แผ่กิ่งก้านสาขาได้สวยงาม  หากปลูกในที่ที่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอจะออกดอกสีเหลืองสดใส  เป็นที่ชื่นชม  และเบิกบานใจแก่ผู้พบเห็น      มีความหมายเปรียบเสมือน  บุคลากรและนักเรียนและนักเรียนทุกคนในโรงเรียนที่มีพื้นฐานความคิดและจิตใจที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมอย่างหนักแน่น มั่นคง และปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก  ความเอื้ออาทร  การให้เกียรติซึ่งกันและกัน  โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรของพระเจ้า  จนเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้พบเห็น

ดอกเหลืองปรีดียาธร

              เป็นดอกไม้ที่มีสีเหลือง  สดใสบานสะพรั่งอยู่บนลำต้น  เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น สีเหลืองของดอกไม้เปรียบเสมือนความเจริญรุ่งเรือง และลักษณะเด่นของโรงเรียนคือ  การที่มีบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ  มีระบบการบริหารและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ  มีนักเรียนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรู้ กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป


เพลงมาร์ชโรงเรียนปัญจทรัพย์

                  เรืองฟ้าขาวเด่นสกาวพราวเวหา             สถาบันสรรศาสตร์ค่ามหาศา

อเนกอนันต์บันดาลศิษย์สัมฤทธิ์การ                    กิจกรรมล้ำทุกด้านชำนาญมา

เด่นจรรยามารยาทพิลาศลักษณ์                         แน่ตระหนักรักการเรียนเพียรศึกษา

ผิดแก้ไขเริ่มต้นใหม่ใช้ปัญญา                            วินัยเสริมเพิ่มคุณค่าพาตนดี

กตเวทีมีในจิตสถิตมั่น                                     สมานฉันท์เรารักกันเหมือนน้องพี่

รู้น้ำใจนักกีฬาสามัคคี                                     ปัญจทรัพย์รักศักดิ์ศรีมิร้างลา

ดวงกมลล้นจงรักภักดีชาติ                               นำดวงจิตคิดสะอาดศาสนา

เทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯกษัตริย์ตรา                       จดจำมั่นคำสัญญาฟ้า – ขาวเอย

โครงสร้างการบริหารงานโรงเรียนปัญจทรัพย์

 

         โรงเรียนปัญจทรัพย์แบ่งโครงสร้างการบริหารงานเป็น6ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายบริหารหลักสูตรและงานวิชาการฝ่ายส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฝ่ายบริการและกิจการนักเรียน ฝ่ายบัญชี การเงิน ทรัพย์สิน ฝ่ายอภิบาลและแพร่ธรรมฝ่ายสำนักบริหาร ธุรการ สำนักงาน โดยยึดหลักการบริหาร/เทคนิคการบริหารแบบ กระบวนการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์(Results Based Management : RBM) และโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(School - Based Management : SBM)  ตามแนวทางการพัฒนาตามวงจรคุณภาพPDCAได้แก่ Plan (วางแผน) Do (ปฏิบัติ) Check (ตรวจสอบ) Act (ดำเนินการให้เหมาะสม)